บาปมหันต์ 7 ประการในการลงทุน

Image result for 7
นักลงทุนส่วนใหญ่ต้องเจ็บตัวเพราะความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับวิธีการลงทุนให้ประสบความสำเร็จ นั่นคือสิ่งที่นักลงทุนที่ยิ่งใหญ่อย่าง "บับเฟตต์ และ โซรอส" ไม่เคยเล่าให้เราฟัง สิ่งเหล่านั้นมันคือความเชื่อผิดๆ ที่นำมาซึ่งความผิดพลาดที่จะทำให้เราล้มเหลวในการลงทุน หรือ ที่เรียกว่า "บาปมหันต์ 7 ประการในการลงทุน" การที่เราจะลบล้างความเชื่อผิดๆเหล่านั้นได้ก็คือ ต้องมาดูกันก่อนว่าอะไรกันแน่ที่ผิด แล้วเรามีความเชื่อแบบไหนกันบ้าง

บาปมหันต์ข้อที่ 1  เชื่อว่า คุณต้องคาดการณ์ความเคลื่อนไหวของตลาดได้ถูกต้อง จึงจะทำผลตอบแทนที่ดีได้
ความจริงในตลาดค้าสกุลเงิน นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จเค้าก็ไม่ได้คาดการณ์ตลาดแม่นยำเสมอไป แต่เค้ามีทักษะ มีกระบวนการคิดตัดสินใจและวินัยที่ดีในการลงทุนด้วย เพราะไม่ว่าคุณจะแน่แค่ไหน แต่การคาดการณ์ให้ถูกต้องทุกครั้งมันเป็นเรื่องที่ยากยิ่งนัก นักลงทุนควรรู้ตัวเองเสมอว่ากำลังทำอะไรอยู่ เมื่อใดควรสู้ และเมื่อใดที่ควรถอย

บาปมหันต์ข้อที่ 2  เชื่อ "กูรู" หลายคนเชื่อว่า ถ้าฉันพยากรณ์ตลาดไม่ได้ ก็ต้องมีคนอื่นที่ทำได้ สิ่งที่ฉันต้องทำก็คือ หาคนคนนั้นให้เจอก็เท่านั้นเอง
ความคิดแบบนี้ ทำให้นักลงทุนล้มหายตายจากไปจากตลาดแล้วมากมาย ก็เพราะว่าเชื่อว่ามี "เซียน" ที่สามารถทำให้คุณรวยได้แบบสบายๆ โดยไม่ต้องทำอะไร แค่ทำตามที่เซียนบอก เซียบบอกว่าขึ้นก็บาย เซียนบอกลงก็เซล เมื่อไหร่ที่ทำตามแล้วได้กำไร ก็เชื่อว่า "แหม่ เซียนคนนี้ สุดยอดมาก ชั้นจะฝากชีวิตการลงทุนไว้ในมือเค้าหละ" แต่ถ้าเมื่อไหร่ เซียนดวงจู๋ ทายไม่แม่นขึ้นมา ทำให้คนตามเสียเงินติดกันซัก 2-3 ครั้ง  คนก็จะบกว่า "โถ เราไม่น่าไปเชื่อเค้าเลย ไม่แม่นจริงนี่หว่า " แล้วก็ไปหาเซียนคนใหม่ แล้วก็จะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นนิสัย อย่าลืมว่า ตลาดค้าสกุลเงินเป็นตลาดที่มีความผันผวนสูงมาก อะไรก็เกิดขึ้นได้ ถ้าคุณไม่วางแผนรับมือกับมันดีๆ เซียนคนไหนก็ช่วยคุณไม่ได้ ทางที่ดีก่อนที่จะปักใจเชื่ออะไรใครควรมองหาเหตุผลประกอบการตัดสินใจ และวางแผนการรับมือเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่คาดคิดตลอดเวลาด้วย อย่าคิดแต่จะยืมจมูกคนอื่นหายใจ เพราะเมื่อเวลาผิดพลาดขึ้นมาทุกคนไม่ว่าคุณหรือเซียนต่างก็ต้องดิ้นรนเอาตัวรอดด้วยกันทั้งนั้น

บาปมหันต์ข้อที่  เชื่อว่า "ข้อมูลวงใน" จะช่วยให้ทำเงินได้มากมาย
ขอยกตัวอย่าง บัปเฟตต์ ที่เป็นนักลงทุนที่รวยที่สุดในโลก แหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดของเขาคือ "รายงานประจำปีของบริษัทจดทะเบียน"  เห็นได้ว่าเขาไม่ได้ใช้ข้อมูล "พลายกระซิบ" จากวงในที่ไหนเลย
อีกตัวอย่างหนึ่งคือ โซรอส ที่ได้ชื่อว่าเป็นบุรุษที่ทำให้ธนาคารแห่งประเทศอังกฤษล้มครืน เมื่อเขาเข้า ชอร์ต ค่าเงินปอนด์เมื่อปี 1992 โซรอสไม่ใช่เพียงคนเดียวที่เห็นสัญญาณนี้ มีคนมากมายที่เห็นสัญญาณนี้มานานแล้ว และต่างพร้อมใจกันขายเงินปอนด์ทิ้ง แต่โซรอสเป็นเพียงคนเดียวที่กล้ากระโดดเข้ามาอย่างเต็มตัว ทำให้รอบนั้นเขาขนกำไรกลับบ้านไปเหนาะๆ 2,000 ล้านดอลลาร์
จากทั้งสองตัวอย่างเห็นได้ว่า นักลงทุนผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสองคนนี้ ไม่ได้ใช้ข้อมูลวงในที่พิเศษกว่าชาวบ้านเลย บัปเฟตต์ใช้ข้อมูลที่เป็นข้อมูลแจกฟรี และโซรอสก็มีข้อมูลที่เหมือนกันกับนักลงทุนอื่นๆทั่วไป แม้ว่าตอนนี้ทั้งสองคนจะมีชื่อเสียงและสามารถเข้าถึงข้อมูลวงในได้ทุกระดับอย่างง่ายดาย แต่อย่าลืมว่า ก่อนที่พวกเขาจะมีชื่อเสียงพวกเขาก็เป็นนักลงทุนธรรมดาอย่างเราๆนี่แหละไม่ได้มีสิทธิพิเศษอะไร และคุณเชื่อมั้ยว่าผลตอบแทนจากการลงทุนของทั้งสองคนในตอนนี้นั้น ยังน้อยกว่าเมื่อก่อนที่พวกเขาจะมีชื่อเสียงเสียอีก ที่สำคัญ ข้อมูลพรายกระซิบจากวงใน คุณจะรู้ได้อย่างไรว่ามันจริงเท็จแค่ไหน ส่วนตัวเราเองเคยมีประสบการณ์ เชื่อข่าวที่เค้าบอกว่ามาจากแหล่งข้อมูลวงใน โดยฟังมาจากบุคคลที่น่าเชื่อถือเลยหละ แต่สุดท้ายราคาก็ไปกันคนละเรื่องกับข่าวที่ได้รับมาเลย

บาปมหันต์ข้อที่ 4 กระจายการลงทุน
หลักในการทำกำไรของ บัฟเฟตต์ และโซรอส ที่เหมือนกันคือ พวกเขาจะ "ลงทุนหนักๆ ให้ได้กำไรก้อนใหญ่ๆ" ในการลงทุนที่พวกเขามั่นใจ บัฟเฟต์จะเลือกบริษัทมาซักครึ่งโหล แล้วคัดเลือกเอาบริษัทที่เขามั่นใจ แล้วจึงลงทุนอย่างเต็มเม็เต็มหน่วยกับบริษัทเหล่านั้น
โซรอส บอกว่า "สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่คุณทำผิดหรือถูก แต่อยู่ที่ว่า คุณทำเงินได้มากแค่ไหนเมื่อคุณตัดสินใจถูก และเสียเงินมากแค่ไหนเมื่อคุณตัดสินใจผิด"  จากคำพูดของโซรอส เน้นย้ำ นักลงทุนรายย่อยๆอย่างเราได้ทีที่เดียวในเรื่องของ " Money management หรือ MM "
สรุปได้ว่าทั้งสองคนจะ "ลงทุนหนักๆ เพื่อให้ได้กำไรเยอะๆ และต้องเยอะกว่าที่เสียไปเมื่อยามที่ผิดพลาด" ซึ่งการกระจายความลงทุนเป็นอะไรที่แตกต่างจากสิ่งเหล่านี้อย่างสิ้นเชิง เพราะแม้ว่าคุณจะได้กำไรจากคู่เงินบางคู่ แต่คุณก็อาจจะขาดทุนกับคู่เงินอื่นๆก็ได้ กำไรที่ได้ก็ต้องมาหักลบกลบหนี้ แบบนี้แล้วคุณจะเหลือกำไรซักเท่าไหร่กัน (ไม่ขาดทุนก็ดีแค่ไหนแล้ว)

บาปมหันต์ข้อที่ 5  เชื่อว่า คุณต้องเสี่ยงมาก หากจะทำกำไรให้ได้มากๆ
นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จนั้นมักไม่ชอบความเสี่ยง (เช่นเดียวกับนักธุรกิจทั้งหลาย)  และทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง ในการลงทุนแต่ละครั้งก็จะต้องพิจารณาดูถึงความเป็นไปได้ว่าเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่จะได้กำไร และความเสี่ยงที่มีนั้นมากน้อยแค่ไหน พยายามอยู่ในจุดที่ทำให้ตนเองได้เปรียบมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ในการลงทุนแต่ละครั้ง นักลงทุนที่ดีรู้ว่าการเสียเงินนั้นง่ายกว่าการหาเงิน และนั่นคือเหตุผลที่พวกเขาพยายามหลีกเลี่ยงความเสี่ยง ซึ่งแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับ "นักพนัน"

บาปมหันต์ข้อที่ 6   เชื่อในการมีอยู่ของ "ระบบ" ว่า มีใครบางคน อยู่ที่ไหนสักแห่งบนโลกใบนี้ ได้พัฒนาระบบขึ้นมา ด้วยวิธีอะไรบางอย่าง อาจเป็นการวิเคราะห์ทางเทคนิค วิเคราะห์พื้นฐาน โดยใช้คอมพิวเตอร์หรือแม้แต่โหราศาสตร์ ที่สามารถรับประกันได้ว่าจะทำกำไรได้อย่างแน่นอน
ความเชื่อในลักษณะนี้ คล้ายกับความเชื่อในตัว "กูรู" ที่เชื่อว่า ถ้าสามารถเอาระบบการลงทุนของกูรูมาใช้ได้ ก็จะทำกำไรได้เหมือนกูรู เหมือนว่าระบบการลงทุนนั้นเป็นสูตรสำเร็จในการลงทุน  ซึ่งความเชื่อในตัวกูรูและระบบนั้น มีรากฐานมาจากสิ่งเดียวกันคือ "ต้องการอะไรที่แน่นอน" โดยที่ตนเองนั้นไม่ต้องทำอะไรเองเลย แค่ทำตามก็พอ  บัฟเฟต์ได้กล่าวในการให้สัมพาษย์หนังสือเล่มหนึ่งที่เขียนเรื่องของเขาว่า "คนเราชอบมองหาสูตรสำเร็จ พวกเขาหวังว่าจะได้เจอกับสูตรสำเร็จที่ใช่ แล้วเอามาต่อเข้ากับคอมพิวเตอร์ และหวังว่าเงินทองจะไหลเข้ามาหาเอง" ซึ่งในความเป็นจริงแล้วระบบของคนคนนึง อาจจะใช้ไม่ได้กับอีกคนนึงก็ได้ มันต้องมีปัจจัยอื่นๆประกอบด้วยในการที่จะทำให้ระบบการลงทุนนั้นๆมีประสิทธิภาพในการทำเงิน ซึ่งที่สำคัญก็คือการมีวินัย และทำตามระบบ "ระบบจะดีแค่ไหนก็ไร้ค่า ถ้าคนใช้ไม่มีวินัยและทำตามอย่างจริงจัง" และคนเราก็มีวินัยที่ไม่เท่ากันซะด้วยซิ

บาปมหันต์ข้อที่ 7 เชื่อว่า คุณ "รู้" ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคตและมั่นในว่าตลาดจะ "เป็น" อื่นไปไม่ได้ นอกจาก "ต้อง" เป็นไปอย่างที่คุณคิด
ข้อนี้ ถือเป็นบาปที่หนักที่สุดในบรรดา 7 ข้อ เพราะทำให้นักลงทุนพอร์ตสะอาดกันมาไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่แล้ว การที่คุณมั่นใจในตัวเองมากเกินไป เชื่อว่าความคิดของตนเองต้องถูกเสมอ คนพวกนี้แหละ "เหยื่อตัวจริง" ของตลาดเลยหละ อย่าลืมว่าตลาดไม่ได้มีคุณคนเดียวและคุณก็ไม่ได้มีอำนาจเหนือตลาดที่จะสามารถควบคุมมันให้ไปในทิศทางที่คุณต้องการได้ โดยเฉพาะตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา เราๆท่านๆต่างก้รู้ดีว่ามันไม่เพดานราคา เวลาที่ราคาวิ่งรุนแรงมันก็ไปแบบพรวดพราด คนที่คิดถูกในจังหวะนั้นก็รวยไป ส่วนคนที่คิดผิดก็เจ็บตัวไป และที่เลวร้ายก็คือ ถ้าคุณคิดผิดแล้วยังเชื่อว่าตัวเองคิดถูกอยู่นี่ซิ ไม่ต้องเดาก็รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น

นี่คือบาปมหันต์ทั้ง 7 ประการ ที่นักลงทุนไม่ควรจะมี ลองพิจารณาตัวคุณเองว่า คุณมีความเชื่อแบบไหนอยู่บ้าง แล้วผลที่ตามมามันเป็นอย่างไร ถึงเวลาแล้วหรือยังที่คุณจะกำจัดมันทิ้งไป


ความคิดเห็น

เรื่องราวที่น่าสนใจ